สรุปประวัติศาสตร์ช่วงปลายราชวงศ์โครยอถึงต้นราชวงศ์โชซอน


นายพลอีซองกเย ยึดโครยอได้ในปี ค.ศ. 1388 แต่ยังให้พระเจ้าคงยางแห่งราชวงศ์โครยอ ปกครองอาณาจักรโครยออยู่ แต่เป็นที่ทราบกันว่าอำนาจที่แท้จริงอยู่ในมืออีซองกเย

ในปี ค.ศ. 1392 ได้ประกาศสิ้นสุดราชวงศ์โครยอ และแต่งตั้งอีซองกเยเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าแทโจ และทรงมอบตำแหน่งและที่ดินให้แก่คนที่มีความดีความชอบในการยึดอำนาจ


พระเจ้าแทโจทรงเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับราชวงศ์หมิง โดยส่งทูตไปให้จักรพรรดิหมิงเลือกชื่อประเทศระหว่าง ฮวารยอง กับ โชซอน และได้คำตอบกลับมา คือ “โชซอน” ซึ่งแปลว่า ดินแดนที่มีแต่ความสดชื่น หรือ ดินแดนที่สงบยามเช้า

พระเจ้าแทโจเริ่มสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่เมื่อ ค.ศ. 1394 ที่เมืองฮันยาง ซึ่งเป็นการย้ายเมืองหลวงจากเมืองแคซองมาที่ฮันยาง หรือ โซลในปัจจุบัน

เมืองหลวงแห่งนี้ ดำเนินการก่อสร้างกำแพงและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ซึ่งออกแบบโดยจองโดจอน หรือ ซัมบง ซึ่งเป็นปราชญ์ขงจื๊อและขุนนางคนสำคัญของพระเจ้าแทโจ และจองโดจอนตั้งชื่อพระราชวังแห่งใหม่ว่า “พระราชวังคยองบก” นอกจากนี้ จองโดจอนยังเป็นผู้วางรากฐานทางการเมืองให้อาณาจักรโชซอน ไม่ว่าจะเป็นกรอบอุดมคติทางการเมือง นโยบายด้านกฎหมาย ขนบธรรมเนียม รวมไปถึงการออกกฎระเบียบต่าง ๆ อีกด้วย


พระเจ้าแทโจ มีลูกชายทั้งหมด 8 คน ลูกชายจากพระนางชินอึย (ภรรยาคนแรก) 6 คน และจากพระนางชินด็อกอีก 2 คน และอีบังวอน คือ ลูกชายคนที่ 5 จากพระนางชินอึย

อีบังวอนมีส่วนช่วยอีซองกเยในการก่อตั้งราชวงศ์โชซอน จากการสังหารจองมงจูขณะข้ามสะพานซอนจุก เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่ภักดีกับราชวงศ์โครยอ


เมื่ออีซองกเยกลายเป็นพระเจ้าแทโจแห่งโชซอนแล้ว อีบังวอนก็ได้รับพระยศเป็นองค์ชายจองอัน แต่พระเจ้าแทโจนั้นโปรดปรานพระนางชินด็อกหรือพระมเหสีองค์ใหม่เป็นอย่างมาก และแต่งตั้งองค์ชายอีบังซอก ลูกชายของพระนางชินด็อกเป็นรัชทายาท ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่บรรดาพระโอรสของพระนางชินอึย โดยเฉพาะอีบังวอน ซึ่งเป็นองค์ชายที่มีความสามารถและมีผลงานมากที่สุด

ในปี ค.ศ. 1397 พระมเหสีชินด็อกสิ้นพระชนม์ และเกิดข่าวลือว่าพระเจ้าแทโจจะยกย่องพระโอรสที่เกิดจากพระมเหสีชินด็อกให้เหนือกว่าพระโอรสที่เกิดจากพระนางชินอึย (ภรรยาคนแรก) ทำให้ในปี ค.ศ. 1398 อีบังวอนตัดสินใจสังหารพระโอรสของพระมเหสีชินด็อกทั้งสองพระองค์ (อีบังบอนและอีบังซอก) อีกทั้งยังสังหารนัมอึน คนสนิทของอีบังซอก และสังหารจองโดจอน ที่ให้การสนับสนุนองค์ชายอีบังซอกเป็นรัชทายาท เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “เหตุการณ์จลาจลขององค์ชาย ครั้งที่ 1” จากนั้น องค์ชายอีบังวอนตั้งองค์ชายอีบังกวา (พี่ชายคนที่ 2) เป็นรัชทายาทแทน

หลังจากที่สูญเสียพระมเหสีและพระโอรสเข่นฆ่ากันเอง พระเจ้าแทโจก็หมดอาลัยตายอยากกับพระชนม์ชีพ จึงสละราชสมบัติในปี ค.ศ. 1398 แล้วเสด็จไปประทับที่เมืองฮัมฮึง ซึ่งเป็นบ้านเกิด

องค์ชายอีบังวอนเสนอให้องค์ชายอีบังกวาขึ้นครองราชสมบัติต่อเป็น “พระเจ้าจองจง” กษัตริย์ลำดับที่ 2 แห่งราชวงศ์โชซอน โดยมีเงื่อนไขให้แต่งตั้งตนเป็นรัชทายาท แต่ความทะเยอทะยานขององค์ชายอีบังวอนและการนองเลือดยังไม่จบสิ้น

พระเจ้าจองจงทรงพยายามหลีกเลี่ยงการแย่งชิงราชบัลลังก์ จึงบัญชาให้ย้ายเมืองหลวงจากฮันยางกลับไปเมืองแคซอง เมืองหลวงในสมัยราชวงศ์โครยอ เพื่อหลีกหนีอิทธิพลของอีบังวอน


ต่อมา ปี ค.ศ. 1400 อีบังกัน พี่ชายคนที่ 4 ของอีบังวอน ได้ก่อกบฏจะยึดอำนาจ อีบังวอนจึงนำทัพเข้าปราบปราม เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “เหตุการณ์จลาจลขององค์ชาย ครั้งที่ 2” ทำให้องค์ชายอีบังกันพ่ายแพ้และถูกเนรเทศ

หลังจากนั้น องค์ชายอีบังวอนจึงเจรจาให้พระเจ้าจองจงสละราชสมบัติ เพื่อให้ตนขึ้นครองราชย์ จนในที่สุดพระเจ้าจองจงก็ทนไม่ได้และสละราชบัลลังก์ให้อีบังวอน องค์ชายอีบังวอนจึงกลายเป็น “พระเจ้าแทจง” กษัตริย์ลำดับที่ 3 แห่งราชวงศ์โชซอน

ถึงแม้ พระเจ้าแทจง (อีบังวอน) จะแย่งชิงอำนาจจากพี่น้องมาอย่างโหดเหี้ยม แต่ทรงมีผลงานมากมาย ซึ่งตลอดการครองราชย์ 18 ปี พระองค์ทรงใช้เวลาไปกับการปฏิรูประบบบริหารประเทศ และจัดระเบียบหน่วยงานใหม่ เพื่อให้ราชสำนักควบคุมได้โดยตรง

รัชสมัยของพระเจ้าแทจงถือเป็นสมัยแห่งการวางรากฐานของอาณาจักรโชซอน มีการแบ่งอาณาจักรโชซอนออกเป็น 8 มณฑล และมีการนำเงินกระดาษมาใช้เป็นครั้งแรกในเกาหลี

พระเจ้าแทจงทรงดำเนินนโยบายส่งเสริมลัทธิขงจื้อใหม่และกดขี่พระพุทธศาสนา ทรงปิดวัดวาอารามไปหลายร้อยแห่ง และยึดที่ดินและทรัพย์ของสถาบันพระพุทธศาสนามาใช้จ่ายในการบริหารบ้านเมือง

ในปี ค.ศ. 1402 พระจักรพรรดิหย่งเล่อได้เป็นพระองค์ใหม่แห่งราชวงศ์หมิง พระเจ้าแทจงจึงทรงส่งทูตไปถวายพระพร พระจักรพรรดิหย่งเล่อจึงตอบแทนด้วยการพระราชทานตราแผ่นดินทองคำและพระราชโองการยอมรับราชวงศ์โชซอนเป็นประเทศราชอย่างเป็นทางการ


แต่พระเจ้าแทโจซึ่งประทับอยู่ที่เมืองฮัมนุงกลับยังไม่ยอมรับในตัวพระเจ้าแทจง และไม่ยอมมอบตราตั้งที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของกษัตริย์โชซอน เพราะพระเจ้าแทจงทรงได้บัลลังก์มาจากการเข่นฆ่าพี่น้อง พระเจ้าแทจงจึงทรงส่งทูตไปหาพระเจ้าแทโจ แต่ทุกคนที่ถูกส่งไปก็โดนพระเจ้าแทโจสังหาร

พระเจ้าแทจงจึงปกครองบริหารบ้านเมืองอย่างดี เพื่อให้พระบิดาเห็นในความสามารถและสมควรที่จะได้รับตราตั้ง โดยเริ่มจากการย้ายเมืองหลวงกลับมาที่ฮันยาง อีกทั้งยังรับสั่งให้มีการสำรวจที่ดินของขุนนางชินจิน ซึ่งขุนนางเหล่านี้มักจะซุกซ่อนโฉนดที่ดินเพื่อหนีภาษี เมื่อสำรวจจนครบแล้ว พบว่ารายได้ของราชสำนักกลับเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และยังทรงให้มีระบบโฮแพ คือ การสำรวจสำมะโนประชากรเป็นครั้งแรก โดยให้ชายที่อายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคนมาลงทะเบียนกับทางราชการ


และพระเจ้าแทจงยังทรงจัดตั้งชินมุน หรือ กลองร้องทุกข์ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการทำงานของขุนนาง โดยให้มาตีกลองหน้าพระราชวัง ทำให้ชาวบ้านสามารถร้องทุกข์ต่อกษัตริย์ได้โดยตรง

ต่อมา ในปี ค.ศ. 1418 พระเจ้าแทจงก็สละบัลลังก์ให้พระราชโอรสที่ชื่ออีโด หรือ องค์ชายชุงนยอง ขึ้นครองราชย์เป็น “พระเจ้าเซจง” กษัตริย์ลำดับที่ 4 แห่งราชวงศ์โชซอน ซึ่งเป็นรัชสมัยที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมสูงสุด

พระเจ้าเซจงมหาราชทรงมีผลงานมากมาย ซึ่งผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการประดิษฐ์อักษรเกาหลี (ฮันกึล) เพื่อใช้แทนอักษรจีน (ฮันจา) จึงทำให้พระองค์ทรงเป็นหนึ่งในสองกษัตริย์เกาหลีที่ได้รับสมัญญาว่าเป็น “มหาราช”


ที่มา (1)

0/แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า