โหนกระแสทนายอูยองอู ฟังอีกมุมมอง ทำไมถึงไม่ควรใช้คำว่า “แอสเพอร์เกอร์” ผ่านบทสัมภาษณ์จากทาง NeurodiverThai
“อูทูเดอะยองทูเดอะอู ดงทูเดอะกือทูเดอะรามี” Extraordinary Attorney Woo ซีรีส์เรตติ้งพุ่งจาก ENA ช่องใหม่ที่เรียกได้ว่ามาแรงแซงทางโค้งจนวินาทีนี้ไม่มีใครไม่พูดถึง ในขณะที่ผู้เขียนบทความนี้กำลังดูซีรีส์เรื่องนี้ จู่ๆ ก็ฉุกคิดเกิดความสงสัยและอยากรู้อะไรมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นออทิสติกขึ้นมา นั่นเลยทำให้ทางผู้เขียนมีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์ตัวแทนทางกลุ่ม NeurodiverThai กลุ่มผู้ขับเคลื่อนประเด็นออทิสติกในประเทศไทย เลยอยากจะชวนผู้อ่านมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับออทิสติกมากขึ้นผ่านบทความนี้ ไปอ่านบทสัมภาษณ์กันเลยค่ะ
ก่อนที่จะอ่านบทความต่อจากนี้ ขอแปะภาพให้ทุกคนเข้าใจกันก่อนว่า ที่ผ่านเราอาจจะมองออทิสติกเป็นแบบชนิดหนัก เบา อ่อน เข้ม ตามคำอธิบายแบบเดิมๆ มา หรือการเข้าใจผิดเกี่ยวกับความถี่และเฉดสีของออทิสติก จึงอยากให้ดูภาพด้านล่างนี้ประกอบ ว่าจริงๆ แล้วออทิสติกมีหลากหลายสเปกตรัมตามชื่อที่เราเรียกกันย่อๆ ว่า ASC (Autistic Spectrum Condition)
(ภาพจาก: beccalory.com)
ชื่อภาษาเกาหลีของเรื่องนี้แปลตรงตัวคือ 'ทนายแปลก' (이상한 변호사 우영우) การนิยามบุคคลในคอมมูนิตี้ออทิสติกสเปคตรัมว่า “แปลก” ถือว่าเป็นการตีตราหรือไหม? แล้วพวกคำว่า พิเศษ เด็กพิเศษ บุคคลพิเศษ ใช้ได้หรือเปล่า?
“ถ้าสำหรับตัวผู้สัมฯ เองมองว่ามันดูก้ำกึ่งเพราะว่ามันแบ่งได้สองแง่ เราเชื่อว่าแต่ละคนมีความแปลกไม่เหมือนกัน มุมแรกอาจจะตั้งชื่อดึงดูดผู้ชม ส่วนอีกมุมเอาจริงมันก็เป็นสิ่งที่สื่อว่าคนในสังคมมองคนออทิสติกว่าดูแปลก”
ส่วนคำว่าพิเศษ เรามองว่าไม่ค่อยโอเค เราไม่ได้พิเศษกว่าใคร เราเป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง คำที่ดีที่สุดคือเรียกว่า ‘คนพิการ’ เลยดีกว่า คำว่าพิการไม่ได้หยาบคายหรือสกปรกอะไร มันก็ดูเคารพตัวตนเราอะไรแบบนั้น
คิดเห็นอย่างไรกับการนำเสนอบุคลิกผ่านคาแรกเตอร์ อูยองอู (ฉลาด ทำให้ถูกมองว่าน่ารัก เป็นเด็ก คล้ายหุ่นยนต์) ตามภาพจำออทิสติกในสเปกตรัมเดียว ถือว่ามีผลกระทบมากหรือไม่
“มีส่วนมาก ทำให้คนรอบข้าง อย่างอาจารย์ พ่อแม่ ที่รับชม ถามเราว่าเก่งอะไรบ้าง เก่งเท่าตัวละครไหม ซึ่งการโดนถามแบบนี้มากๆ เราก็รำคาญ คือมองเราเป็นแบบทั่วๆ ไปไม่ได้เหรอ และอีกอย่างเป็นปัญหาสื่อ การสร้างภาพจำ ซึ่งอาจมีผลกระทบเรื่องการเลือกปฏิบัติกับคนพิการตามมา”
“อย่างเรื่องหน้าตาเฉพาะของคนออทิสติก ซึ่งเจอกับคำถามแบบนี้มามากแล้ว ในยูทูปบางทีก็มีคนไปให้ข้อมูลผิดๆ กัน ทั้งที่ออทิสติกไม่ใช่ดาวน์ซินโดรม คือออทิสติกก็หน้าตาเหมือนคนทั่วไป เพราะออทิสติกคือ ‘ความพิการที่มองไม่เห็น’
“การที่สื่อนำเสนออะไรด้านเดียว ก็อาจทำให้คนเข้าใจเราผิดไป เช่น บางเรื่องโง่มาก ฉลาดมากสุดโต่ง”
อยากให้ช่วยมองพวกเราเป็นคนธรรมดา เราว่ามันไม่ได้สอดคล้องกับชีวิตจริงเราเลย
ตัวละครอูยองอูถูกเคลมว่าเป็น ‘แอสเพอร์เกอร์’ ในมุมมองของ Neurodiver Thai ทำไมถึงควรเลี่ยงนิยามว่าเป็นแอสเพอร์เกอร์ (Asperger Syndrome)
“นิยามแอสเพอร์เกอร์ เป็นนิยามที่ล้าสมัย เป็นคำวินิจฉัยตั้งแต่สมัยใช้คู่มือการวินิฉัย DSM-4 ปัจจุบันเขาไม่ใช้แล้ว ตอนนี้เป็น DSM-5 แล้ว ซึ่งก็ปรับปรุงมาแล้วไม่รู้ว่ามันจะดีหรือเปล่า” ตัวแทนกล่าว
(คำย่อของคู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM)
“สาเหตุที่ไม่ควรใช้คำว่า แอสเพอร์เกอร์ เพราะแอสเพอร์เกอร์จัดว่าเป็นการวินิจฉัยแบบ Functioning Labels ทั้งที่ออทิสติกคือสเปกตรัม ซึ่งการที่ คนมักเรียกคนออทิสติกว่า แอสเพอร์เกอร์ เพราะเก่งอัจฉริยะนั้น คือมันเป็นการวัดด้านเดียว”
“แต่การวัดแบบ Spectrum นั้น อย่างที่บอกคือสเปกตรัมของออทิสติกมีหลายด้าน ด้านในการรับรู้ ความถี่การรับรู้สิ่งต่างๆ ด้านความถี่การใช้วัจนภาษา ด้านการกระตุ้น ด้านทักษะสังคม ด้านการบริหารควบคุมต่างๆ ด้านความถี่การวิตกกังวล ด้านซึมเศร้า ด้านสมาธิสั้น เป็นต้น กลับกัน การวัดแบบ Functional Labels อ่อนเข้ม มันวัดด้านเดียวไม่ได้ เพราะมีความบิดเบือนสูงมากและอาจไม่ได้สิ่งที่เราต้องการจะได้ ผลคาดเคลื่อน” ตัวแทนจาก NeurodiverThai กล่าว
ออทิสติกต้องเก่งต้องฉลาด อาจมีโอกาสได้รับการยอมรับมากกว่า?
“การยอมรับแบบนั้นคือการยอมรับแบบมีเงื่อนไข ถ้ายอมรับแบบไม่มีเงื่อนไขคือต้องยอมว่าการเรียนแบบไหนก็คนออทิสติกเหมือนกัน”
คนออทิสติกก็มีสิทธิที่จะรัก?
“ออทิสติกก็มีความรักแบบทั่วไป มีเพศสภาพ มีเพศวิถี ออทิสติกเป็นแค่ลักษณะที่แตกต่าง แต่ทุกคนมีความรู้สึก ไม่ว่าจะพิการหรือเป็นแบบไหน ทุกคนก็รู้สึกเป็น ส่วนการแสดงออกมันแล้วแต่คนแต่ละสเปกตรัม”
คิดเห็นอย่างไรต่อกระแสด้านบวกและเป็นที่นิยมของละครเรื่องนี้ รวมถึงการนำเสนอตัวละครออทิสติกในพื้นที่สื่อละครมากขึ้น
“เราพูดว่ามันเป็นดาบสองคมดีกว่า เพราะว่าเอาจริงๆ มันก็ดีตรงให้คนรู้ด้านดีของออทิสติก แต่อีกด้านก็ทำให้คนเข้าใจเรื่องผิดๆ ได้ ซึ่งจริงๆ ก็หวังว่าคนที่รับชมซีรีส์เรื่องนี้นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมีวิจารณญาณ และสิ่งที่สำคัญอีกอันคือ การรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนออทิสติกด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเข้าใจผิด”
เรื่องทำการบ้านประเด็นออทิสติกของคนเขียนบท ถ้าเต็ม 10 ส่วนตัวให้เท่าไหร่?
“ให้ 6 เพราะมันมีจุดอ่อน คือถ้าหากนักแสดงเป็นคนออทิสติกมันจะดีมาก แล้วยิ่งบทที่ให้คนออทิสติกมีส่วนร่วมช่วยเขียน การบิดเบือนจะลดลงไปมาก เพราะอาจจะสามารถเอาประสบการณ์ที่เคยเจอมาใส่ มันก็จะเกิดความสมจริงขึ้นมามากขึ้น แล้วอัตราการบ้งจะลดลง”
บทความของทาง NeurodiverThai ที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น ปัญหารับน้องแบบ SOTUS กับบุคคลออทิสติก มีอันตรายกว่าที่คิด อ่านต่อได้ที่เว็บไซต์ NeurodiverThai
อ้างอิง: (1)
แสดงความคิดเห็น