‘จาก SKY Castle สู่ Crash Course in Romance’ เมื่อเกาหลีเล่าเรื่องระบบการศึกษาในประเทศผ่านซีรีส์


     ในวันหยุดสบาย ๆ ของใครหลายคนที่พักผ่อนนอนชม Netflix ที่บ้าน หนึ่งในลิสต์ที่รอการรับชมของคอคนรักซีรีส์เกาหลีจะต้องมีเรื่อง ‘Crash Course in Romance’ อยู่ หลังจากซีรีส์เรื่องนี้กลายเป็นที่โด่งดัง เมื่อทำเรตติ้งได้ถึง 10.9% ทั่วเกาหลีใต้ภายใน 4 อีพี อีกทั้งยังคงเป็นที่นิยมอันดับ 4 ของประเทศไทย


     Crash Course in Romance เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับติวเตอร์คณิตศาสตร์ชื่อดัง ชเวชียอล’ ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘BTS แห่งวงการติวเตอร์ของเกาหลีใต้’ เพราะกิตติศัพท์ความแม่นยำในการแก้โจทย์และความสามารถถ่ายทอดเรื่องราวยาก ๆ ในคณิตศาสตร์ให้เป็นเรื่องง่าย จนทำให้ผู้ปกครองทุกคนต้องการชิงตัวติวเตอร์ชื่อดังรายนี้เพื่อสอนพิเศษให้กับลูกของตนเอง จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเกิดขึ้นโดย นัมแฮอี’ ลูกสาวของ นัมแฮงซอน’ ต้องการจะเรียนพิเศษกับชียอลโดยได้ที่นั่งที่ดีที่สุด แม้ว่าตอนแรกเธอไม่มีความมีสนใจต่อการเรียนเสริมเหมือนคนอื่น ๆ ก็ตาม การเจอกันของนัมแฮงซอนกับชเวชียอลในฐานะครูสอนพิเศษและผู้ปกครองของนักเรียนนำมาสู่เรื่องราวแสนสนุกสนานและลึกลับที่ผู้ชมต้องไขปริศนาในซีรีส์เรื่องนี้ต่อมา[1]


     นับตั้งแต่ซีรีส์เรื่องนี้ออนแอร์ทั่วโลก ไม่เพียงแต่เคมีของพระนาง ปริศนาของซีรีส์ และบทละครที่ยอดเยี่ยมจนทำให้เรื่องนี้ถูกพูดถึง แต่ประเด็นต่าง ๆ ใน Crash Course in Romance ผ่านการตีแผ่หนึ่งในปัญหาของสังคมเกาหลีอย่างระบบการศึกษาก็ได้รับความสนใจจากสาธารณชนทั่วโลกเช่นเดียวกัน นับตั้งแต่ประเด็นความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา ความกดดันของเด็ก ๆ ในเรื่องจากการถูกคาดหวังโดยคนรอบตัวให้มีชีวิตที่ดีตามมายาคติแบบเกาหลี การใช้ พรีวิเลจ’ และ กลโกง’ เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมา รวมไปถึงการแพร่หลายและความเป็นที่นิยมของสถาบันกวดวิชา (학원ซึ่งสะท้อนกับสถานการณ์จริง เมื่อหน่วยงานจัดทำสถิติแห่งชาติ และกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวแห่งสาธารณรัฐเกาหลีรายงานว่าประชากรอายุ 9-24 ร้อย 74.8% ล้วนเรียนกวดวิชาจากภายนอกเสริม โดยแบ่งออกเป็นนักเรียนวัยประถม 83.5% นักเรียนมัธยมต้น 71.4% และนักเรียนมัธยมปลาย 61% [2]

ภาพสถิติจากเว็บไซต์ KoreaHerald

ซีรีส์เกาหลีที่สะท้อนวงการศึกษาไม่ได้มีเรื่องเดียว:
‘SKY Castle’ หอคอยแห่งความสำเร็จที่พ่อแม่อยากให้ลูกตัวเองไปถึง

     นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ซีรีส์เกาหลีใช้เรื่องราวของการศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง ‘The Penthouse’, ‘High Class’, ‘Black Dog: Being a Teacher’ หรือ ‘Why Her?’ ต่างเป็นซีรีส์ก่อน Crash Course in Romance บอกเล่าถึงการศึกษาของเกาหลีใต้ผ่านเรื่องราวสุดแสนดราม่าในละครได้อย่างลงตัว เช่น เรื่องราวอันชุลมุนและเกินจริงใน The Penthouse ซึ่งดำเนินมาถึง 3 ซีซั่น เกิดจากความอยากเป็นที่ 1 ในวงการร้องเพลงคลาสลิกตั้งแต่รุ่นลูกสู่รุ่นปัจจุบัน จนท้ายที่สุด นำมาสู่การใช้วิธีการโดยมิชอบเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการของแต่ละคน


     อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางซีรีส์ที่โด่งดังทั้งหมด ‘SKY Castle’ กลับเป็นหนึ่งในภาพจำสุดคลาสลิกของคอซีรีส์เกาหลีถึงการเล่าเรื่องอันทรงพลังที่สุดผ่านการเสียดสีความเน่าเฟะของระบบการศึกษาเกาหลีใต้ ซึ่งการันตีความสำเร็จผ่านเรตติ้งสูงสุด 23.779% ทั่วประเทศ[3] และกลายเป็นซีรีส์ที่มีเรตติ้งสูงสุดเป็นอันดับ รองจาก Reborn Rich’ ที่เพิ่งทำสถิติแซงหน้าเมื่อปลายปีที่ผ่านมา[4]


     SKY Castle เป็นเรื่องราวของผู้หญิงสามคนในครอบครัวชนชั้นกลางระดับสูงที่อยากเห็นลูกไปถึงจุดสูงสุดตามค่านิยมของสังคม คือ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยท็อป อย่าง มหาวิทยาลัยโซลแห่งชาติ (Seoul National University), ‘มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) และ มหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) ซึ่งเชื่อว่าเป็นใบเบิกทางสู่ความสำเร็จในการประกอบอาชีพตามมายาคติของสังคม เช่น เป็นหมอ ทนาย อัยการ ผู้พิพากษา ฯลฯ เพื่อจะไปให้ถึงฝั่งฝันที่นับว่ามีเพียง 3% เท่านั้นของประเทศ พวกเธอพยายามทำทุกอย่างให้ลูกประสบความสำเร็จ นับตั้งแต่การสร้างตารางชีวิต การจัดหาอาหารเพื่อบำรุงร่างกายให้พร้อมกับการสอบ จนถึงการแสวงหาติวเตอร์ที่ดีที่สุดเพื่อเรียนกวดวิชาเสริมและสร้างความก้าวหน้าในองค์ความรู้ อย่างไรก็ตาม โศกนาฎกรรมของตัวละครเกิดขึ้น เมื่อพ่อแม่ในเรื่องต่างสร้างเป้าหมายให้ลูกเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่เคยถามถึงสิ่งที่ลูกอยากเป็นเพียงซักนิด


     SKY Castle หยิบยกเรื่องราวของโครงสร้างระบบการศึกษาเกาหลีใต้ที่กดทับบุคคลออกมาถ่ายทอดให้ง่ายดายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมายาคติ ความสำเร็จของทุกคนเกิดขึ้นจากการศึกษา ซึ่งนั่นเป็นความจริงเพียงส่วนเดียวภายใต้โครงสร้างสังคมที่เหลื่อมล้ำ เมื่อจุดเริ่มต้นของแต่ละคนอย่าง ต้นทุน’ และ ทรัพยากร’ ไม่เท่ากัน ทุกคนก็ย่อมไม่สามารถไปสู่เส้นชัยดั่งที่ต้องการได้ เช่น ตัวละครหนึ่งเกิดในครอบครัวที่ร่ำรวยจนสามารถเรียนพิเศษ หาความรู้เพิ่มเติมจากติวเตอร์ชื่อดังได้อย่างง่ายดายและไม่เบียดเบียนใคร ในขณะที่อีกตัวละครไม่มีทั้งทรัพยากรทางด้านเวลาและการเงิน เมื่อจำเป็นต้องทำงานพิเศษเพื่อหาเลี้ยงชีพครอบครัวเสริม เรื่องราวเหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่าการปีนขึ้นไปสู่หอคอยสูงสุดไม่ใช่เรื่องที่แสนง่ายดายสำหรับบางคน หากแต่ต้องแลกมากับหยาดเหงื่อ หยดน้ำตา หรือแม้แต่เลือดก็ตาม


     นอกเหนือจากนั้น ซีรีส์เรื่องนี้ยังสอดแทรกประเด็นอื่น ๆ ในสังคมนับตั้งแต่ ‘ความสำคัญของครอบครัว’, ‘ความคาดหวังของลูกต่อการเป็นพ่อแม่’ ตามคติความเชื่อของเกาหลี ไปจนถึง ‘วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่’ ในครอบครัวของชาวเอเชีย เมื่อพ่อเป็นหัวหน้าครอบครัว ดูแลเรื่องภายนอกบ้าน และมีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุด ในขณะที่แม่มีหน้าที่ดูแลครอบครัว งานบ้าน รวมถึงความเป็นอยู่ของลูก จนเมื่อมีเรื่องราวต่าง ๆ เกิดขึ้น คนเป็นพ่อกลับไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับลูกและภรรยาเลย ด้วยเนื้อเรื่องที่มีความกลมกล่อมหลากหลายมิติ รวมถึงสะท้อนสังคมจริง SKY Castle จึงเป็นหนึ่งในซีรีส์ที่ดีที่สุดตลอดกาลถึงการบอกเล่าความเป็นจริงของสังคมเกาหลีอย่างไม่คัดค้านสายตาเลยแม้แต่นิดเดียว


จากเรื่องราวในซีรีส์เกาหลีสู่สังคมจริง: ‘มายาคติของสังคมผ่านลัทธิขงจื๊อ’
บ่อเกิดของการแข่งขันที่เข้มข้นในการศึกษาเกาหลี

     สถานการณ์
จริงที่เราพบเห็นในซีรีส์อย่างความเป็นที่นิยมของสถาบันกวดวิชา การใช้กลวิธีโกงข้อสอบเพื่อให้ได้คะแนนสูง เช่น ใช้นาฬิกาอะนาล็อกส่งคำตอบให้กันให้คนอื่นเข้าสอบแทนในการสอบซูนึง (수능)[5] ไปจนถึงตัวละครตัดสินใจปลิดชีพของตนเอง เนื่องจากความกดดันจากระบบการศึกษา ทั้งหมดล้วนเป็นผลลัพธ์จาก ‘ลัทธิขงจื๊อใหม่’ (Neo-Confucianism) ซึ่งเป็นทั้งศาสนาและอุดมการณ์ในยุคโชซ็อนที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน ในฐานะรัฐบรรณาการ

ขงจื๊อ

     มายาคติภายใต้ขงจื๊อไม่เพียงแต่สร้างแนวคิด ระบบชนชั้นทั้ง 4’  ได้แก่ ยังบัน กลุ่มชนชั้นสูง (양반) ชุงอิน กลุ่มข้าราชการ (중인), ซังมิน กลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ (상민) และซอนมิน กลุ่มทาสหรือคนชั้นล่างของสังคม (천민ในฐานะอาณัติแห่งสวรรค์ และ ระบบชายเป็นใหญ่’ ในสังคมโชซ็อนจากการให้ความสำคัญต่อเพศชายในฐานะหัวหน้าครอบครัว แต่ยังมีแนวคิดเรื่องความสำคัญของการศึกษาภายใต้คำสอนว่าด้วย การศึกษาคือแนวทางไปสู่ความสำเร็จ’ ที่ไม่ว่าผู้คนจะอยู่ในชนชั้นใดของสังคมสมควรที่จะได้รับการศึกษา อีกทั้งการศึกษาจะนำไปสู่โอกาสในการเลือกสิ่งดี ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยกระดับตนเองขึ้นมาจากชาติกำเนิดที่ต่ำต้อย[6] การให้ความสำคัญต่อการศึกษาในยุคโชซ็อนโดยลัทธิขงจื๊อสะท้อนผ่านการก่อตั้งสถาบันการศึกษาซองกยุนควาน (성균관เพื่อสอนแนวคิดขงจื๊อใหม่แก่เหล่าบัณฑิต ระบบการสอบคัดเลือกราชการอย่าง ควากอ’ (과거ที่มีการแข่งขันดุเดือด เพราะสามารถกำหนดชนชั้นทางสังคมได้ไม่ต่างจากการสอบซูนึงในปัจจุบัน รวมไปถึงการเปิดโรงเรียนในหมู่บ้านหรือ ซอดัง (서당สำหรับกลุ่มเด็กผู้ชายได้รับการศึกษาเฉพาะกลุ่มเดียว[7]

แผนผังระบบชนชั้นทั้ง 4 ไล่ไปจากชนชั้นสูง (ยังบัน) สู่กลุ่มชนชั้นล่างหรือกลุ่มทาส (โนบี)

ภาพจำลองการสอบราชการหรือควากอ

ซองกยุนควานในปัจจุบัน

     ความสำคัญของระบบการศึกษาจากแนวคิดขงจื๊อถูกทำให้เข้มข้นมากขึ้นผ่านนโยบายของรัฐบาลภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติช่วง 1960-1970 ท่ามกลางการพยายามให้ความสำคัญต่อทรัพยากรมนุษย์ กล่าวคือ หากมนุษย์ได้รับการศึกษาที่ดี เกาหลีใต้จะพัฒนาและดียิ่งขึ้น โดยพัค จอง-ฮี อดีตประธานาธิบดีริเริ่มนโยบายของเขาด้วยโครงการ ‘เซมาอึล อุนดง’ (새마을 운동) โดยมีหัวใจสำคัญ คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ รวมไปถึงการส่งเสริมคุณภาพทางการศึกษาของเยาวชน

พัคจองฮี อดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการ 
และพ่อของอดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรก พัคกึนฮเย

โครงการเซมาอึล อุนดง

โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อโครงการ

     นโยบายดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม เกาหลีใต้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลกจนปรากฎคำว่า ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน’ (Miracle of the Han River) ที่แสดงถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อรัฐที่ยากจนและมีความขัดแย้งระหว่างประเทศต้องพึ่งพามหาอำนาจมาตลอดกลายเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาของโลกเพียงไม่กี่ทศวรรษ คนเกาหลีใต้จึงยิ่งตระหนักว่าการศึกษา คือ รากฐานที่นำไปสู่ความยิ่งใหญ่ของเกาหลีใต้บนเวทีโลก[8] ซึ่งเป็นการลบล้างตัวตนของเกาหลีใต้ในฐานะ เหยื่อ’ จากประวัติศาสตร์อันเลวร้ายภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่นในอีกมิติหนึ่งอีกด้วย


     เหตุการณ์สะท้อนความจริงจังของคนเกาหลีใต้ต่อการศึกษาได้ดีที่สุดคงไม่พ้น เทศกาลแห่งการสอบซูนึง ไม่เพียงแต่ความมุ่งมั่นของนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองที่เตรียมความพร้อมล่วงหน้าเป็นระยะเวลาหลายปีด้วยการทบทวนความรู้จนไม่มีเวลาพักผ่อนเพียงพอ การค้นหาสถาบันกวดวิชาพิเศษในราคาอันแสนแพงเพื่อเรียนล่วงหน้าและได้ความรู้ลึกซึ้งกว่าในห้องเรียน ผู้คนทั้งประเทศต่างก็พร้อมใจอยู่ในความเงียบเพื่อสมาธิของผู้เข้าสอบ โดยสะท้อนผ่านภาพของร้านค้าที่หยุดทำการหนึ่งวัน ธนาคารปิด ตลาดหุ้นเปิดทำการช้ากว่าปกติ ไปจนถึงการขนส่ง การบินถูกจำกัด หรือแม้กระทั่งการฝึกทางทหารยังถูกระงับ ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าการสอบซูนึงมีความสำคัญในฐานะ สิ่งที่กำหนดชะตาชีวิต’ ของเยาวชนเกาหลีในภายภาคหน้า เมื่อพวกเขาต้องถูกประเมินความสามารถและชนชั้นทางสังคมผ่านมหาวิทยาลัยที่เรียนจบมาด้วยปริญญาเพียงหนึ่งใบ เรื่องราวอันแสนเศร้าเกิดขึ้นตามมา มีเพียงผู้คน 3% จากประชากรทั้งหมดเท่านั้นที่สามารถปีนไปสู่หอคอยแห่งความสำเร็จ แต่อีกหลายคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังและโดนตราหน้าจากสังคมในฐานะ คนล้มเหลว’ ท้ายที่สุด เยาวชนหลายคนเลือกจบชีวิตเพื่อตัดขาดจากระบบที่ไร้ทางออกภายใต้ความกดดันรอบด้านนั่นเอง[9]


     แม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเครียดด้านวิชาการด้วยการกวาดล้างสถาบันกวดวิชาที่ไม่เป็นธรรมต่อนักเรียน หากแต่ต้นตอของปัญหาอย่างมายาคติ คนที่เรียนเก่งที่สุดเท่านั้นจึงจะมีที่ยืนในสังคม’ ยังคงอยู่และฝังรากลึกในสังคมโดยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ท้ายที่สุดแล้ว ความรุนแรงในระบบการศึกษาของเกาหลีใต้ยังคงจะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งนั่นหมายความว่า ความฝันของเด็ก ๆ คงไม่มีทางจบลงอย่างสวยงามและ ‘Happy Ending’ เสมือนในซีรีส์อย่างเป็นแน่



[1] https://entertainment.trueid.net/synopsis/BRMOKmLz7eJV
[2] https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20200517000272
[3] https://asianwiki.com/SKY_Castle
[4] https://www.soompi.com/article/1559149wpp/reborn-rich-overtakes-sky-castle-to-become-2nd-highest-rated-drama-in-cable-tv-history
[5] https://10wontips.blogspot.com/2021/11/whats-considered-cheating-on-suneung-11.html
[6] ฬุรีย์ ฐิติวโรดม, “ทัศนะของชาวเกาหลีที่มีต่อการศึกษาและการพัฒนาประเทศ,” (สาขาวิชาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555)
[7] Ibid.
[8] Ibid.
[9] https://www.minnetonkabreezes.com/top-stories/2020/12/22/academic-intensity-in-korea-how-suneung-affects-students-lives/

0/แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า