‘เพราะหนทางสู่ความสำเร็จไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ’ ส่องเบื้องหลังชีวิตไอดอลผ่าน The Heavenly Idol


*Disclaimer บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง ถ้าผู้อ่านไม่อยากโดนสปอยล์ให้เสียอรรถรส สามารถข้ามไปได้เลยนะคะ*

         กำลังดำเนินเรื่องไปอย่างเข้มข้น สำหรับซีรีส์แฟนตาซีอย่าง The Heavenly Idolเรื่องราววุ่น ๆ เกิดขึ้น เมื่อมหาปุโรหิตของเทพเจ้าเรดริน แรมบรารี่’ (แสดงโดยคิม มินกยู) ต้องมาสลับร่างด้วยเหตุสุดวิสัยกับหนุ่มไอดอลตกอับ อู ยอนอูแห่งไวลด์แอนิมอลที่ถูกมองว่าไม่เอาไหนซักอย่าง เพื่อที่จะกลับไปในโลกที่เคยอยู่ เขาจะต้องทำตามสัญญาระหว่างอู ยอนอูตัวจริงด้วยการชนะรางวัลศิลปินแห่งปีใน Korean Music Awards แรมบรารี่ในร่างอูยอนอูจึงต้องทิ้งสถานะนักบวช และกลายเป็นไอดอลจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมี คิม ดัล (แสดงโดยโก โบกยอล) แฟนคลับของอูยอนอูที่ผันตัวมาเป็นผู้จัดการของไวลด์แอนิมอลคอยให้ความช่วยเหลือชีวิตใหม่ในร่างไอดอลของเขาเป็นไปอย่างราบรื่น


         แม้ว่าประเภทของซีรีส์จ่อหัวว่าเป็นแนวแฟนตาซี
-รอมคอม ซึ่งก็มีฉากขำขันตั้งแต่อีพีแรกอย่าง ความเด๋อของท่านแรมบรารี่บนเวทีการแสดงคัมแบ็กไวลด์แอนิมอล (ฮา) ความน่ารักของมหาปุโรหิตที่ร้องหาเครื่องบรรณาการ (ขนม) ทุกครั้งเมื่อต้องใช้แรง รวมไปถึงเคมีของคิม ดัลและแรมบรารี่ในร่างอู ยอนอูที่ทำให้เราได้แต่ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่คนเดียวด้วยความฟินอยู่คนเดียว แต่อันที่จริงแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้มีเนื้อหาหนักหน่วงและเต็มไปด้วยปมปริศนาตั้งแต่ 3 อีพีแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้อ่านเป็นติ่งเกาหลีแบบเราคงจะอินกับประเด็นต่าง ๆ ในซีรีส์มากเป็นพิเศษจนอาจบอกได้ว่าในเลข 5 มีน้ำตาซ่อนอยู่ตลอดทั้งการรับชม


‘คนที่แพ้ก็ต้องดูแลตนเอง’ เมื่ออยู่รอดไม่ได้ ก็ต้องออกไปจากระบบ

         จากเนื้อเรื่องเบื้องต้น ไวลด์แอนิมอลเป็นเพียงแค่วงไอดอลตกกระป๋องที่อยู่ไปอย่างไม่รู้ชะตากรรมว่าจะถูกยุบวงวันไหน พวกเขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อกอบโกยความหวังครั้งสุดท้ายอย่างการขึ้นแสดงในรายการเพลงเพื่อสร้างความประทับใจจากแฟนคลับคนใหม่ ๆ อีกครั้ง แม้ว่าจะต้องใช้เส้นสายของประธานบริษัทก็ตาม

         สำหรับผู้ที่ติดตามวงการเคป๊อป นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด หากย้อนมองกลับไปในเหตุการณ์จริง การแข่งขันที่สูงของวงการไอดอลไม่เพียงแต่คาดหวังให้ผู้ผลิตหรือไอดอลมีมาตรฐานที่ดีและแปลกใหม่ แต่นั่นยังรวมไปถึงความสามารถในการทำเงินและ ขายได้เท่านั้นจึงจะอยู่รอดในระบบ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือ ในปี 2012 มีการเดบิวต์ของบอยแบนด์ถึง 24 วง แต่มีเพียงแค่ไม่กี่วง ซึ่งสามารถนับจำนวนหลักหน่วยเท่านั้นที่โด่งดังและอยู่รอดจนถึงปัจจุบัน[1]

ภาพกลุ่มไอดอลที่เดบิวต์ในปี 2012 (จาก Soompi)

         มากกว่านั้น มีรายงานว่าสถานการณ์การยุบวงในวงการเคป๊อปร้ายแรงยิ่งขึ้นเพราะวิกฤตการณ์โควิด เมื่อไอดอลที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากมักสร้างรายได้และดึงดูดแฟน ๆ จากทุกสารทิศผ่านการแสดงในเทศกาลต่าง ๆ เช่น งาน C-Festival และเทศกาลคังนัม หรือแม้แต่งานแสดงตามมหาวิทยาลัยก็ตาม สื่อชื่อดังอย่างสำนักข่าวจุงอัง (중앙 일보) รายงานว่า โดยปกติแล้วไอดอลมักทำเงินได้จากงานเทศกาลราว 20 ล้านวอน อีกทั้งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญเพื่อดำรงชีวิตในหมู่ไอดอลที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก แต่กลับกลายเป็นว่าโควิดทำให้เทศกาลต่าง ๆ ต้องปิดตัวลงเป็นการชั่วคราว อีกทั้งบริษัทเล็ก ๆ หลายแห่งไม่สามารถจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ได้เหมือน 3 ค่ายยักษ์ใหญ่แห่งวงการบันเทิงเกาหลี เมื่อสภาวะขาดทุนเกิดขึ้น การยุบวงที่ไม่สามารถทำเงินได้จึงเป็นทางออกที่ดีในสายตาของผู้มีอำนาจ ไอดอลหลายคนจำเป็นต้องทิ้งความฝันและกลับไปใช้ชีวิตในฐานะคนปกติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้[2]

ภาพเทศกาล (จาก K-bitzoom และ Ministry of Culture, Sports and Tourism)

         ฟังดูแล้วอาจโหดร้ายสำหรับหลายคน รวมถึงผู้เขียนก็ตาม แต่คำว่า ความพยายามไม่เคยทรยศใครอาจใช้ไม่ได้กับวงการเคป๊อปภายใต้ระบบทุนนิยมที่เน้นผลกำไรและมูลค่าทางการตลาดอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะกับกลุ่มนายทุนที่ไม่ได้สนใจความรู้สึกของศิลปิน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างแฟนคลับกับไอดอลมากไปกว่าการกอบโกยความมั่งคั่งเลย


‘ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอด หรือแม้แต่ขายตนเองก็ตาม’ ความโหดร้ายของโลกทุนนิยมต่อไอดอล

         ชะตากรรมของไวลด์แอนิมอลตกอยู่ภายใต้การบงการโดยเพียงคนหนึ่งคน เมื่อประธานบริษัท 'อิม ซอนจา' (รับบทโดยเย จีวอน) พยายามพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจากกระแสเชิงลบ หลังจากแรมบรารี่ในร่างยอนอูถูกวิจารณ์ถึงการกระทำบนเวทีที่ไม่ยอมแสดงร่วมกับเพื่อน ๆ เธอตัดสินใจใช้ยอนอูเป็นเครื่องเรียกกระแสเพื่อสร้างศรัทธาและกอบกู้วิกฤตต่อบริษัทและวง นับตั้งแต่การนัดแนะให้ยอนอูถูกสัมภาษณ์โดยพิธีกรที่ปากจัด จนถึงการให้ไปออก รายการเซอร์ไวเวอร์ร้องเพลงแม้ว่ารู้ทั้งรู้ว่ายอนอูตัวจริงไม่สามารถร้องเพลงได้ อีกทั้งเธอยังเน้นย้ำว่าโปรดิวเซอร์ของรายการสามารถทำลายภาพลักษณ์ของยอนอูได้ตามใจชอบ หากให้แอร์ไทม์ที่ดีกับสมาชิกอีกคนของไวลด์แอนิมอลอย่างแคซี่’ (รับบทโดยชเว แจฮยอน)


         ฉากดังกล่าวยิ่งตอกย้ำสถานภาพของไอดอลในฐานะ
สินค้าเพื่อความบันเทิงภายใต้โลกทุนนิยมอย่างปฏิเสธไม่ได้ เมื่อไอดอลเป็นเพียงเครื่องมือทำเงิน ต้องสามารถทำทุกอย่างเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับวงและบริษัทได้ ซึ่งรวมไปถึงแม้แต่การสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้เป็นที่ถูกพูดถึงในสังคม ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นจริงกับไอดอลหลายวง เช่น อดีตเกิร์ลกรุ๊ป ‘Stellar’ ที่กลายเป็นประเด็นในสังคมช่วงหนึ่ง หลังจากเปลี่ยนภาพลักษณ์สาวหวานสดใสสู่คอนเซ็ปต์เซ็กซี่จนน่าตกใจเป็นอย่างมาก เมื่อ MV ของพวกเธอ Marionetteถูกจำกัดเรต 19+


         แม้ว่า
Stellar จะได้กระแสตอบรับที่ดีในชาร์ตเพลง หลังจาก Marionette กลายเป็นซิงเกิ้ลที่มีความนิยมสูงสุดในบรรดาผลงานของพวกเธอ โดยติดอันดับ 35 ใน Gaon Chart และอันดับ 34 ใน K-pop Hot 100 Chart แต่เมมเบอร์กลับไม่ได้รู้สึกดีเลยแม้แต่น้อย พวกเธอออกมาเปิดเผยในภายหลังว่าต้นสังกัดยัดเยียดคอนเซ็ปต์เซ็กซี่ให้ หลังจากการปรากฏตัวของพวกเธอใน Marionette ทำให้ความนิยมเพิ่มขึ้น กายอง หนึ่งในสมาชิกวง Stellar อธิบายเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นว่าพวกเธอถูกบริษัทหลอกให้สวมเสื้อผ้าที่เปิดเผยร่างกายมากจนเกินไปในช่วงของการโปรโมทเพลง Vibrato อีกทั้งมีสมาชิกบางคนได้รับแผลใจจากคอนเซ็ปต์ดังกล่าว หลังจากเธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากสังคม เพราะภาพบางอย่างในเอ็มวีที่ถูกฉายออกไป[3]


ตอนถ่ายเอ็มวี มีฉากเมมเบอร์คนหนึ่งดื่มนมค่ะ ในสคริปต์บอกว่าเป็นฉากที่นึกถึงคนรักเก่า ให้ตื่นขึ้นมาแล้วดื่มนม ซึ่งพวกเราก็แค่คิดว่าต้องดื่มนมเฉย ๆ พวกเขาบอกเราเพิ่มเติมว่าให้ทำนมหกตอนดื่มด้วย เมมเบอร์คนนั้นของพวกเราคิดว่าเป็นการแสดงให้รู้ว่าไม่มีแรงเฉย ๆ[4]

ทุกคนตกใจกันมากเมื่อเห็นคอมเมนต์จากเอ็มวีว่า ฉากนี้ทำให้ทุกคนจินตนาการออกได้เลยว่ามันคืออะไรเมมเบอร์ที่ถ่ายทำเอ็มวีตอนนั้นอายุแค่ 20 เองนะคะ เธอช็อกกับเหตุการณ์จนทุกวันนี้เธอไม่สามารถดื่มนมได้เลย เธอเจ็บปวดอย่างมาก ไม่มีใครรู้ตอนถ่ายทำว่าพวกเขาต้องการอะไรจากฉากนี้[5]  - กายอง อดีตเกิร์ลกรุ๊ปจากวง Stellar, 2020
 

แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม?: เมื่อไอดอลไม่มีทั้งความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว

         ไอดอลถูกตีตราในฐานะ คนสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายดาย นับตั้งแต่การสร้างภาพลักษณ์ เฟรนด์ลี่ที่เป็นกันเองกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม โดยเฉพาะการเปิดเผยช่วงเวลาส่วนตัวกับแฟนคลับจนก่อให้เกิดความรักและความผูกพันเสมือนเพื่อนสนิทหรือคนรัก แม้ว่าไม่เคยเห็นหน้าหรือรู้จักกันเป็นส่วนตัวก็ตาม ในบางครั้ง ไอดอลก็กลายเป็น ฮีลเลอร์เยียวยาจิตใจของแฟนคลับทั้งในวันที่ดีหรือวันที่แย่เสมอ เพียงแค่เราได้ดูรูปถ่าย วิดีโอ หรือแม้แต่การอ่านข้อความสั้น ๆ ของพวกเขาในโลกโซเซียลมีเดียก็ตาม


"ต่อให้หดหู่และเหน็ดเหนื่อยมาทั้งวัน แต่ก็มีคนมากมายที่เติมพลังใจให้ตัวได้ด้วยการดูรูปและวิดีโอของไอดอลคนโปรดค่ะ มันทำให้พวกเขามีพลังสู้ต่อไป และช่วยเยียวยาด้วยค่ะ"  - คิม ดัล

         ไอดอลเปรียบเสมือนผู้สร้างความสุขให้กับแฟนคลับกลุ่มหนึ่งก็จริง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่มีชีวิตจิตใจและปราศจากความเป็นมนุษย์ เมื่อมีคนจำนวนหนึ่งมองไอดอลเป็นเพียง สิ่งของจนทำพฤติกรรม ล้ำเส้นเมื่อกำแพงระหว่าง ความเป็นส่วนตัวและ ความเป็นสาธารณะ ทลายลงจากสถานะคนดัง ไม่เพียงแต่การเกิดปาปารัสซี่ที่คอยติดตามและแอบถ่ายชีวิตส่วนตัวของศิลปิน หรือเปิดเผยเรื่องราวต่าง ๆ อย่างไม่สมควร เช่น การประกาศคู่รักระหว่างคนดังทุก ๆ ปีใหม่ของสำนักข่าวชื่อดังแห่งหนึ่งโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัว แต่นั่นยังรวมไปถึงปรากฎการณ์ ซาแซง(사생) หรือกลุ่มคนที่อ้างว่าตนเองเป็นแฟนคลับ แต่กลับทำพฤติกรรมล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวต่อศิลปิน เช่น การสะกดรอยตาม การแอบถ่าย บางกรณียังค้นพบว่ามีการบุกรุกที่อยู่ ใช้สิ่งของต่าง ๆ ของไอดอลไปจนถึงการขโมยของหรือข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปขาย ฯลฯ

         ในชีวิตจริง คนดังหลายคนได้รับผลกระทบจากการกระทำของซาแซง โดยเฉพาะไอดอลหนุ่มอย่าง แบคฮยอน’ Main Vocal แห่ง EXO เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้รับความสนใจจากการเปิดเผยช่วงเวลาที่ถูกซาแซงคุกคามมาโดยตลอด นับตั้งแต่เขาถูกสะกดรอยตาม ถูกโทรก่อกวนในเวลาตอนกลางคืน รวมถึงต้องพยายามรับมือกับกลุ่มซาแซงที่พยายามปรากฎตัวในที่พัก จนแบคฮยอนออกมาแสดงความในใจกับกลุ่มแฟนคลับ ‘EXO-L’ หรือ เอลี่ ทั้งใน Twitter และ LYSN อยู่บ่อยครั้ง

 
ผมว่าเราต้องแบ่งแยกให้ชัดเจน ระหว่างคำว่าซาแซงกับซารัง (คำที่แบคฮยอนชอบใช้เรียกเอลี่) ถึงแม้ขึ้นต้นด้วยซาเหมือนกัน แต่ความรู้สึกของผมต่อ 2 คำนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเลยนะครับ” - แบคฮยอนตอบกลับเอลี่ใน Twitter ปี 2020 [6]

ผมเรียนร้องเพลงเสร็จแล้วล่ะ แต่ตรงหน้าที่ที่ผมเรียนร้องเพลง TT ผมหวังว่าพวกเขา (ซาแซง) จะไม่มานะ” -  ข้อความของแบคฮยอนที่แสดงความกังวลต่อซาแซงใน LYSN ปี 2023 [7]

         สิ่งที่แบคฮยอนต้องพบเจอนับเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า นอกจากความยากลำบากจากการถูกรบกวนชีวิตประจำวันและความเป็นส่วนตัวแล้ว บางครั้งสภาพจิตใจของไอดอลก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไอดอลไม่สามารถจัดการต่อสถานการณ์ดังกล่าวด้วยตนเองได้ แต่ต้นสังกัดบางแห่งกลับเพิกเฉยด้วยมายาคติว่า เป็นสิ่งที่คนดังต้องพบเจอเป็นปกติและปล่อยให้ศิลปินรับมือกับสิ่งนี้ตามลำพังเสียแทน ซึ่งหากพิจารณากันตามความเป็นจริง ต้นสังกัดควรมีบทบาทในการดำเนินการทางกฎหมาย หรือสร้างมาตรการเพื่อการันตีความปลอดภัยให้กับศิลปิน แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เมื่อท้ายที่สุด ไอดอลต้องทนจำยอมสภาวะความไม่สบายใจดังกล่าวไปโดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เลย


รายการเซอร์ไวเวอร์: พญามารในคราบนายทุนและผู้มีอำนาจ

         บ่อยครั้ง ซีรีส์ที่เกี่ยวข้องเรื่องราวของไอดอลมักปรากฏ รายการเซอร์ไวเวอร์เพื่อเฟ้นหาความเป็นที่สุดในด้านนั้น ๆ หรือแม้แต่การแข่งขันระหว่างเด็กฝึกเพื่อเดบิวต์ในอนาคต The Heavenly Idol เป็นอีกเรื่องที่นำเสนอประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะ ด้านมืดของรายการเซอร์ไวเวอร์ เมื่อโปรดิวเซอร์ของรายการพยายามตัดต่อและใส่คาแร็กเตอร์ พระเอก-ตัวร้าย’ ให้ผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ๆ รวมถึงอู ยอนอู เพื่อเรียกกระแสและสร้างเรตติ้งให้กับรายการ โดยมี พญามาร’ (รับบทโดยอี จางอู) ที่อยู่ในร่างมนุษย์ในฐานะ ชิน โจอุน’ รองประธานบริษัท คอยควบคุมและชี้แนะให้โปรดิวเซอร์มีบทบาทแทรกแซง อีกทั้งยังให้ความช่วยเหลือผู้เข้าแข่งขันคน ๆ อื่นเพื่อจัดการกับแรมบรารี่ในร่างอู ยอนอู


         เหตุการณ์ในเรื่องทำให้ย้อนนึกถึงการทุจริตในรายการเซอร์ไวเวอร์ชื่อดังที่ออกอากาศช่วงหลายปีก่อน เมื่อโปรดิวเซอร์ 
อัน จุนยองของรายการเซอร์ไวเวอร์แห่งตระกูล ‘Produce’ ได้แก่ Produce 101 ซีซั่น 1&2, Produce 48, Produce X ถูกจำคุกด้วยข้อหาทุจริตผลการโหวตของผู้เข้าแข่งขันในเวลา 2 ปี และหัวหน้าโปรดิวเซอร์ คิม ยองบอมถูกจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือนในฐานรับสินบนจากค่ายดัง 5 แห่งที่นำไปสู่การปลอมแปลงคะแนนและคัดออกผู้เข้าแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม

         แม้ว่าในภายหลัง ศาลได้เปิดเผยรายชื่อของผู้เข้าแข่งขันที่ต้องตกรอบไปอย่างไม่ยุติธรรมจากการบิดเบือนข้อมูล เช่น แบคโฮอดีตบอยแบนด์วง Nu’est, ‘อี กาอึนอดีตเกิร์ลกรุ๊ปแห่ง After School และ ฮัน โชวอนเกิร์ลกรุ๊ปวง Lightsum ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีมากในระหว่างการแข่งขัน แต่ก็ยังไม่มีการชดใช้ต่อผู้เสียหายอย่างเป็นรูปธรรม มากกว่านั้น บริษัทชื่อดังของเครือเซอร์ไวเวอร์ยังคงนำเสนอวงที่ถูกบิดเบือนผลการโหวตต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องโดยไม่นึกถึงสภาพจิตใจของเหยื่อและแฟนคลับเลย[8]

     
         ว่ากันตามตรงแล้ว ผู้มีอำนาจบงการและควบคุมความเป็นไปของผู้เข้าแข่งขัน ฉกฉวยโอกาสที่จะเปลี่ยนชีวิตของคนหนึ่งคนโดยไม่นึกถึงความพยายามและความตั้งใจของพวกเขา สามารถเปรียบเทียบกับบทบาทของพญามารในเรื่องนี้ได้เลยทีเดียว ซึ่งอาจเป็นสัญญะของผู้เขียนบท The Heavenly Idol ตั้งใจใส่ลงไป โดยเฉพาะประเด็น ปีศาจในร่างมนุษย์เมื่อตัวละครในเรื่องมีเจตนาที่ไม่ดีต่อคนอื่น จะถูกพญามารครอบงำและกลืนกินจิตใจให้ทำบางอย่างตามจิตใต้สำนึกของตนเอง ซึ่งหากเทียบในชีวิตจริง ทุกคนที่คิดไม่ดีกับคนอื่นก็สามารถกลายเป็น ปีศาจในชีวิตจริงได้เช่นเดียวกัน แม้ว่าในโลกนี้จะไม่มีพญามารที่คอยบงการพวกเขาก็ตาม


         สุดท้ายแล้ว
The Heavenly Idol และบทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ตีแผ่ด้านมืดและความเจ็บปวดของวงการไอดอล ซึ่งยังมีประเด็นอีกมากมายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้ถูกตีแผ่ เช่น ประเด็นค่านิยมความงามที่ตายตัว หรือ ‘Beauty Standard’, ‘วัฒนธรรมไอดอลไม่สามารถมีความรักได้ไปจนถึง การถูก Social bullying’ จากคนที่อยู่หลังแป้นพิมพ์ จนบางครั้ง ผู้เขียนอดนึกไม่ได้ว่าไอดอลคนโปรดของใครหลายคนจะมีชีวิตที่ดีและสภาพจิตใจที่เข้มแข็งเหมือนกับที่พวกเขามอบความสุขและความสดใสในฐานะ ฮีลเลอร์ของแฟนคลับได้หรือเปล่า?


[1] https://www.soompi.com/article/445949wpp/new-k-pop-idol-boy-bands-debuted-in-2012
[2] https://kbizoom.com/running-out-of-money-many-kpop-groups-struggle-to-survive-in-the-industry-end-up-disbanding/
[3] https://www.koreaboo.com/stories/heartbreaking-story-stellar-used-agency/
[4] Ibid.
[5] Ibid.
[6] https://twitter.com/qtpiebyunbaek/status/1300054198336118785
[7] https://www.allkpop.com/article/2023/03/exos-baekhyun-tells-sasaeng-fans-not-to-show-up
[8] https://www.sanook.com/music/2426237/

0/แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า