พูดคุยกับ โฮม ปิยะรัฐชย์ ถอดประเด็น Working Mom จากซีรีส์เกาหลี ที่การเป็นแม่และนักการเมืองสามารถทำไปพร้อมกันได้


ปี 2023 เรียกได้ว่าเป็นปีของ แม่ โดยแท้จริง ซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลีหลาย ๆ เรื่อง ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงสิ้นปีต่างเน้นไปถึงบทบาทหน้าที่ของแม่ในรูปแบบต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือการเน้นเล่าไปถึงบทบาทของ Working Mom ยกตัวอย่างเช่น Crash Course in Romance, Kill Boksoon, Queenmaker และ Cold Blooded Intern โดยในประเด็นต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่ในเรื่องเหล่านั้นทำให้เราฉุกคิดได้ว่า นอกจากจะ Base on true มาจากสังคมของเกาหลีใต้แล้วนั้น ยังสอดคล้องมาถึงสังคมไทยอีกด้วย


ทาง K-dramath จึงได้มีโอกาสไปพบกับคุณ โฮม-ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ส.ส.เชียงราย เขต 2 จากพรรคเพื่อไทย ที่ได้มาร่วมพูดคุยและแชร์ถึงประสบการณ์ในการเป็น Working Mom ในสังคมไทยที่เต็มเปี่ยมไปด้วย Passion ของตนเอง


ประสบการณ์ในการเป็น Working Mom ของตัวเองเป็นอย่างไร

ถามว่ามันเหนื่อยมั้ย? เหนื่อย เพราะว่าตอนสมัยแรกเราตั้งท้องลูกคนแรกประมาณ 3 เดือน แล้วได้มาเป็นส.ส. อีก 2 ปีถัดมาก็มีลูกคนที่ 2 ครั้งที่แล้วเราเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้นก็พอจะมีเวลา แล้วก็มีการวางตารางค่อนข้างชัดเจน ว่าช่วงเวลาไหนที่อยู่กับลูกและช่วงเวลาไหนที่เราลงพื้นที่หรือเข้าประชุม ไม่ได้มีปัญหากับการจัดการเวลา แล้วเราโชคดีมากที่บ้านเราซัพพอร์ตทุกอย่าง มีครอบครัวที่คอยให้ความอบอุ่นกับลูกของเรา แล้วตอนนี้ลูกทั้งสองคนอยู่เชียงราย ดังนั้นเราก็จะบินไปกลับทุกอาทิตย์และมี Quality Time กับเขาเสมอ

“มีลูกเมื่อพร้อม” ในนิยามของตนเอง

คำว่าพร้อมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าในมุมของเรามีลูกเมื่อพร้อมคือ 1.การที่เรามีวุฒิภาวะที่เพียงพอ ที่เราจะสามารถเลี้ยงดูคนคนนึงให้เติบโตขึ้นมาเป็นคนดีของสังคมได้ 2.การเงิน บางคนบอกว่า เท่านี้ ประมาณนี้ก็พอ ดังนั้นมันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่สำหรับเราคือการทำอย่างไรก็ได้ให้เรามีเงินที่เพียงพอในการที่จะเลี้ยงลูก ให้อยู่ในสังคมที่ดีและอยู่ในโรงเรียนที่ดี อย่างของพรรคเพื่อไทยเองเราก็จะพยายามในเรื่องของนโยบาย โรงเรียนที่อยู่ต่างจังหวัด/อำเภอ มี Quality ที่เท่าเทียมกับในเมืองให้ได้

พอมีครอบครัวแล้วย่อมมีสิ่งให้เราต้องรับผิดชอบมากขึ้น ทัศนคติของเราต่อบทบาทแม่เปลี่ยนไปอย่างไร

ถามว่าเปลี่ยนไปมั้ย? ต่างกันตรงที่ว่าเราต้องจัดสรรเวลาให้ดี คือเราจะเป็นคนที่ Alert อยู่ตลอดเวลา เมื่อก่อนก่อนที่จะมีลูกก็จะลงพื้นที่เต็มร้อย แต่ถามว่าครั้งนี้ลงพื้นที่เต็มร้อยมั้ย เต็มร้อยเหมือนเดิม แต่เราต้องการเวลาที่เราพักผ่อนเอาให้กับลูกด้วย เพื่อเป็น Quality Time ของเขา เพราะเขาก็จะมีภาษาต่างดาวของเขา เราก็สนุกกับเขาไปด้วย บางวันก็เล่น TikTok  กับเขา แต่หลัก ๆ เลยคือเราพยายามหากิจกรรมทำร่วมกับเขา 

รู้สึกว่าตัวตนบางอย่างของเราหายไปบ้างหรือเปล่า

เราอาจจะแปลกกว่าคนอื่นตรงที่ เราก็ยังเป็นเราคนเดิมที่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร ชีวิตของเราจะมีกรอบในการทำงานและการใช้ชีวิตอยู่แล้ว เราก็ไม่เคยออกนอกกรอบนี้ แล้วก็ไม่เคยก้าวล้ำกรอบที่ตัวเองวางไว้ด้วย แต่เป็นกรอบที่เราแฮปปี้นะ ไม่ได้เป็นกรอบที่สวมไปแล้วเรา Suffer แบบนั้นไม่ใช่


คิดว่าข้อดีข้อเสียของการเป็นผู้แทนประชาชนและเป็น Working Mom คืออะไร

เราว่าไม่มีข้อเสียเลย เราชอบที่เป็นทั้งส.ส.แล้วก็เป็นทั้งแม่ เพราะเราได้รับรู้ถึงปัญหา ถ้าง่าย ๆ เลยนะ ในเรื่องของครอบครัวหนึ่งครอบครัวมันจะมีปัญหาเรื่องไหนบ้าง การเลี้ยงลูก การเงิน หรือว่าการทำงาน เราก็โอเค มันก็เหมือนเราเป็นตัวทดลองเลยว่า นี่ขนาดเรายังเหนื่อย เรายังมีปัญหา เรายังต้องเจอกับสิ่งรอบข้างที่มันรุมเร้าเข้ามา แล้วคนทั่วไปที่ไม่ใช่เรา เขาต้องหาเช้ากินค่ำ ต้องเลี้ยงลูกไปด้วย บางคนเป็น Single Mom บางคนเป็น Single Dad เราก็รับแล้วก็รู้ รู้เสร็จเราเอามาถ่ายทอดต่อ ทั้งถ่ายทอดผ่านนโยบายของพรรคด้วยและถ่ายทอดผ่านสภาผู้แทนราษฎรด้วย

ในแวดวงการเมือง Working Mom ยังต้องเผชิญกับปัญหาการถูกกดทับจากปิตาธิปไตยอยู่ไหม

ในมุมของเราคือไม่ค่อยเจอ ไม่ค่อยเจอแบบผู้ชายจะเป็นใหญ่ถึงกับเหยียบเรา เพราะตัวเราก็จะมีทางของเราที่พยายามจะ Stand out ออกมาอยู่แล้ว เราว่าความเป็นผู้หญิงและความเป็นส.ส.ของเราไม่มีใครจะมากดเราได้ เพราะเราคือตัวแทนของประชาชน โชคดีที่เรายังไม่เคยเจอแบบ ‘กลับบ้านไปเลี้ยงลูกไป’ อะไรแบบนี้ แต่ถามว่าถ้าเจอจัง ๆ เราก็คงบอกไปว่า ไม่ไปค่ะ จะทำงาน แล้วก็ทำให้ได้เท่าเราละกัน อันนี้คือตัวตนของเรา เราไม่ยอม


ในมุมของคนที่ทำงานและเลี้ยงลูกไปด้วย อยากให้องค์กรหรือรัฐบาลมีสวัสดิการอะไรที่เอื้อต่อเหล่าคุณแม่บ้าง

เราเป็นส.ส.มา 2 สมัย เราตั้งท้องลูกสองคนในสภาแต่ไม่มีห้องปั๊มนมเลย แล้วตอนนั้นสภามันยังไม่ได้เสร็จ 100% ถึงขนาดที่มีห้องให้ส.ส.แต่ละคนได้เข้าไปนั่งทำงานนะ เรานั่งประชุมไม่งั้นก็เดินไปหลังห้องประชุมแล้วก็ปั๊มนม คือเอาผ้าคลุมมาแล้วก็ปั๊มเลย บางทีเราต้องฟังนู่นนี่นั่นไปด้วย เราก็นั่งในที่ประชุมแล้วก็ปั๊มนมไปเลย ฮาสุดคือเราหิวข้าวแล้วไปห้องอาหาร เราก็ใส่ผ้าแล้วปั๊มนมกลางห้องอาหารเลย

ถามว่าอายมั้ย? มันก็ต้องก้าวข้ามความอายไปเพราะมันคืออาหารของลูกเรา พอปั๊มเสร็จก็ต้องไปหาตู้แช่อีกอันเพื่อไปฝากไว้กับคนที่เขาไม่รังเกียจนมเราด้วยนะ เพราะนมมันคือเลือดกับน้ำเหลืองของเรา พอประชุมเสร็จเอากลับบ้านแล้วก็เอาไปแช่ตู้ต่อ อันนี้คือที่เราประสบพบเจอในสมัยที่แล้ว นี่ขนาดสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องคิดเลยถ้าเราต้องไปอำเภอ ศาลากลางจังหวัด หรือโรงพยาบาล มันไม่มีที่จัดเตรียมให้กับสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นขอให้เขาหน่อย ขอให้ความเป็นแม่ของเราหน่อย ถึงแม้ว่าคนอาจจะไม่ต้องปั๊มนมทุกวันเยอะ ๆ แต่มันก็คือสิทธิ์แล้วก็น่าจะเป็นสวัสดิการที่ดีให้กับเราได้


จากบทสัมภาษณ์เราจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันสังคมไทยก็ยังต้องประสบพบเจอกับปัญหาสวัสดิการที่ไม่เอื้ออำนวยต่อเหล่าคุณแม่อยู่มากมาย หวังว่าบทความนี้จะเป็นอีกหนึ่งเสียงที่ช่วยส่งไปยังองค์กรต่าง ๆ เพื่อสิทธิและการปฏิบัติต่อ Working mom/Single mom เท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป เพราะนั้นคือ Equality อย่างแท้จริง

ภาพ: scene of songkram
เรียบเรียง: scene of songkram

0/แสดงความคิดเห็น

ใหม่กว่า เก่ากว่า